แคปซูลชาละวัน|manager

กระแสสุขภาพเป็นเทรนด์ที่แรงต่อเนื่องกันมาหลายปีและจะยังแรงต่อเนื่องเป็นกระแสไปอีกหลายปี

สำหรับประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เมื่อพูดถึงกระแสสุขภาพก็มักเชื่อมโยงถึงเรื่องสมุนไพรต่างๆ นานา ตั้งแต่ในครัวจนถึงในป่า แต่หากไปเปิดตำรับตำรายาโบร่ำโบราณ ก็จะเห็นว่าไม่ใช่แค่พืชเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ถูกจัดเป็นสมุนไพร แต่ยังต้องรวมไปถึงธาตุและสัตว์ต่างๆ เข้าไปด้วย

คนจีนและชาวบ้านแถบภาคใต้ของประเทศไทย เรียนรู้สืบทอดกันมานานว่าเลือดของจระเข้มีสรรพคุณบางอย่างที่ช่วยสมานแผลและรักษาโรคร้ายได้ พวกเขานำเลือดจระเข้มาทาแผล บ้างก็ตากให้แห้งไว้รับประทาน แต่ในยุคนั้นก็ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันมั่นเหมาะว่า ในเลือดของเจ้าชาละวันซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับไดโนเสาร์มีอะไรอยู่ข้างใน

จนถึงยุคที่วิทยาศาสตร์ขี้สงสัยพยายามหาคำตอบ และเมื่อได้คำตอบแล้วก็พยายามหากรรมวิธีแปรรูปเลือดจระเข้เพื่อให้คงคุณสมบัติไว้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง จึงนำมาสู่การวิจัยศึกษาของทีมอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหาหนทางพัฒนาในเชิงธุรกิจต่อไป

-1-

จุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.ดร.จินดาวรรณ สิรันทวิเนติ เล่าว่า เริ่มจากการศึกษาการเพาะเลี้ยงจระเข้ แต่บังเอิญทางทีมวิจัยสังเกตเห็นรอยแผลเหวอะหวะบนตัวจระเข้ที่เกิดจากการกัดกันเองของพวกมัน ซึ่งทางทีมวิจัยเห็นสภาพแผลแล้วก็รู้สึกว่าคงจะไม่รอดการติดเชื้อและตายในที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักนอกจากจระเข้ตัวดังกล่าวจะไม่ตายแล้ว แผลที่เคยเหวอะหวะกลับหายเป็นปกติ

“เราจึงคิดว่าในเลือดจระเข้คงมีอะไรพิเศษ เราจึงสนใจทำการศึกษา ประกอบกับในขั้นของการชำแหละจระเข้เพื่อเอาหนัง จะต้องเอาเลือดออกจากตัวจระเข้ให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้เนื้อที่มีคุณภาพ เลือดที่ได้มาก็เอาไปทิ้งซึ่งทางเรารู้สึกว่ามันน่าจะเอาไปทำประโยชน์ได้”

จากการค้นคว้าข้อมูลของ ผศ.ดร.จินดาวรรณ พบว่า ในตำรายาแผนโบราณจะมีจระเข้เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย เรียกว่า สัตววัตถุ มีสรรพคุณแก้โรคหอบหืด สมานแผล ดีซ่าน หรือแม้แต่มะเร็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษากันต่อไป แต่ที่แน่ๆ จากการศึกษาครั้งนี้ทีมศึกษาพบว่าเลือดจระเข้มีฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

รศ.วิน เชยชมศรี อธิบายแบบบ้านๆ ให้ฟังว่า ในเลือดของจระเข้จะมีโปรตีนสายสั้นๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นหนาม เมื่อเลือดของจระเข้สัมผัสเข้ากับเชื้อแบคทีเรีย หนามที่ว่าจะเจาะเข้าไปในผนังเซลล์ของแบคทีเรียให้แตกและตาย ขณะที่ตัวยาโดยปกติที่เรากินเวลาไม่สบาย สารจากตัวยาจะค่อยๆ ซึมผ่านผนังเซลล์ของแบคทีเรียเข้าไป เราจึงพบเห็นการดื้อยาของแบคทีเรียได้เสมอๆ

“ถ้าเป็นยา ตัวยาจะค่อยๆ ซึมเข้าไป แต่เลือดจระเข้จะเป็นเหมือนเข็มเล็กๆ ฉะนั้น เชื้อแบคทีเรียที่ว่าดื้อยา มันก็ไม่สนใจ ทิ่มอย่างเดียว”

-2-

เมื่อรู้ว่าเลือดจระเข้มีฤทธิ์เดชสามารถปราบปรามเชื้อแบคทีเรียได้โดยไม่ไยดีความดื้อแพ่งใดๆ ทางทีมงานวิจัยจึงคิดต่อว่า ปัจจุบันจระเข้ไม่ได้เป็นสัตว์สงวนเหมือนในอดีต แต่กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออกไปแล้ว โดยมีหนังจระเข้เป็นสินค้าหลัก ส่วนเนื้อ กระดูก และเลือด จะเป็นผลิตผลรองๆ ลงมา แต่เมื่อค้นพบถึงสรรพคุณของเลือดจระเข้และรู้ว่าทางประเทศจีนเองก็สั่งซื้อเลือดจระเข้จากฟาร์มในไทยอยู่แล้วเป็นครั้งคราว เราก็น่าจะหาวิธีเก็บรักษาและแปรรูปเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ

“ยกตัวอย่างเลือดจระเข้ 5 ลิตรเราทำเป็นผงได้ประมาณ 600 กรัม นำไปอัดแคปซูลได้ประมาณ 2,700 เม็ด ถ้าแคปซูลเม็ดละ 10 บาทก็ตกเป็นเงิน 2 หมื่นกว่าบาท เท่ากับที่ผ่านมาเราเทเงินทิ้งไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ แล้วก็เคยมีเรื่องฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งที่ว่าเลือดจระเข้สามารถต้านไวรัสเอดส์ได้ ซึ่งนั่นเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ในคนจริงๆ ยังไม่มีใครทดลอง” รศ.วินอธิบาย

ด้าน ผศ.ดร.จินดาวรรณอธิบายเพิ่มเติมว่า จระเข้อยู่ทั้งบนบกและในน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าโครงสร้างของฮีโมโกลบินที่นำออกซิเจนในเลือดจระเข้มีโครงสร้างที่พิเศษกว่าในคน สามารถเก็บออกซิเจนไว้ในโมเลกุลได้เยอะทำให้จระเข้สามารถดำน้ำได้นาน ซึ่งในฮีโมโกลบินจะมีธาตุเหล็กเป็นตัวจักรสำคัญในการเกาะกับออกซิเจน และประเทศเราก็มีคนเป็นโรคโลหิตจางอยู่มากหรือคนท้องที่ต้องการธาตุเหล็ก แล้วทำไมเราจึงไม่นำเลือดจระเข้มาแปรรูปเป็นอาหารเสริมเพื่อทดแทนการนำเข้า

แต่ปัญหาแรกที่ทางทีมวิจัยต้องขบให้แตกก็คือจะทำอย่างไรจึงจะเอาเลือดจากจระเข้หนึ่งตัวออกมาให้ได้มากที่สุด ผศ.ดร.จินดาวรรณอธิบายว่า

“แต่ก่อนจะดูดเอาเลือดจระเข้ด้วยกระบอกฉีดยา ถ้าเราอยากจะให้ได้เลือดเยอะๆ ก็ต้องเปลี่ยนเข็มและใช้กระบอกที่ใหญ่ขึ้นซึ่งมันไม่สะดวก ทั้งยังต้องอาศัยความชำนาญพอสมควรเพื่อให้ได้ปริมาณเลือดคุ้มค่าในระดับอุตสาหกรรม หรือจะใช้วิธีดั้งเดิมคือเอากะละมังรองเลือดจากจระเข้ก็อาจมีการปนเปื้อนได้ง่าย ทางเราจึงคิดค้นอุปกรณ์การเจาะและเก็บเลือดในปริมาณมากขึ้นมา ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อน”

ส่วนวิธีการเก็บตัวอย่างจะใช้เลือดจากจระเข้พันธุ์ไทย อายุประมาณ 2-3 ปี น้ำหนักประมาณ 25-30 กิโลกรัม โดยก่อนชำแหละจะใช้อุปกรณ์ในการเจาะและเก็บเลือดที่ทางทีมงานประดิษฐ์ขึ้น เจาะเข้าไปยังบริเวณแอ่งเลือดบริเวณท้ายทอย (Anterior Dorsal Sinus) ของจระเข้

-3-

หลังจากได้เลือดจระเข้มาแล้ว หากยังไม่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตจะต้องนำเลือดที่ได้ไปเก็บไว้ภายใต้อุณหภูมิเย็นจัดประมาณ -80 องศาเซลเซียส เพื่อให้เลือดจระเข้กลายเป็นของแข็ง

และถ้าจะนำเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นผงจึงค่อยนำเลือดจระเข้ที่แช่แข็งเอาไว้มาทำการระเหิดแห้งภายใต้อุณหภูมิเย็นจัดหรือแบบเยือกแข็ง (Lyophilization) โดยใช้เครื่อง Freeze Dryer เพื่อดูดน้ำและความชื้นออกจากเลือดจระเข้ที่เป็นของแข็งให้เปลี่ยนเป็นผงโดยไม่ต้องหลอมให้กลายเป็นน้ำก่อน ซึ่งแต่เดิมการผลิตเลือดจระเข้แห้งจะใช้วิธีตากแดดจนกว่าจะแห้ง ต่อมาก็พัฒนาเป็นการทำให้แห้งด้วยตู้อบที่ตั้งอุณหภูมิในการอบโดยทั่วไปสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส เป็นผลให้โครงสร้างโปรตีนในเลือดจระเข้เกิดความเสียหาย

อีกทั้งวิธีนี้เป็นกระบวนการผลิตในระบบเปิด จึงมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของเลือด และอาจเกิดผลเสียต่อผู้บริโภคได้

“โดยทั่วไปก่อนหน้านี้การทำเลือดจระเข้ให้เป็นผงจะใช้วิธีการอบด้วยความร้อน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้โครงสร้างของโปรตีนในเลือดจระเข้เกิดความเสียหาย เพราะความร้อนจะทำให้โปรตีนสายสั้นๆ ที่เป็นหนามมันเสื่อม ขาดเป็นท่อนสั้นๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนรูปไป จากที่เคยเป็นหนามก็เกิดงอคล้ายตะขอทำให้ไม่สามารถทิ่มแทงผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้ แต่การอบให้แห้งด้วยการระเหิดจะคงสภาพโครงสร้างของโปรตีนนี้ได้”

เมื่อผ่านกระบวนการระเหิดแห้งแล้วก็จะได้เลือดจระเข้ออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อนำเข้าสู่เครื่องบดที่ผ่านการฆ่าเชื้อ บดให้ออกมาเป็นผงอีกครั้งหนึ่ง

“ตีเสียว่าจระเข้ 10 ตัวให้เลือดได้ประมาณ 5 ลิตร ผ่านกระบวนการออกมาจะได้เลือดผงประมาณ 600 กรัม แพ็กใส่แคปซูลจะตกอยู่ที่ 2,700 แคปซูล เม็ดละ 250 มิลลิกรัม แต่ที่ฟาร์มเขาจะฆ่าจระเข้วันละ 30 ตัว ถ้าเขาเก็บเลือดจระเข้หมดทั้ง 30 ตัว เราก็จะได้แคปซูลออกมาประมาณ 8,100 เม็ดต่อวัน” รศ.วินอธิบาย

เขากล่าวต่อด้วยว่า จากการทดลองพบว่าจระเข้ที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทยไม่มีหนอนพยาธิในเลือดและลำไส้ เมื่อนำไปทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ปรากฏว่าหนูทดลองที่บริโภคเลือดจระเข้ทั้งแบบสดและแบบแห้งก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวิเคมีในเลือด และไม่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพกับอวัยวะภายในของหนูทดลองแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังไม่ได้ทำการทดลองในมนุษย์แต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่าคนเราก็กินเลือดจระเข้กันมานานแล้วตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น

รศ.ดร.จินดาวรรณ บอกว่า

“แคปซูลตัวนี้ปลอดภัยเนื่องจากผ่านการทดลองแล้วและยังเป็นสารที่ได้โดยตรงจากธรรมชาติ ไม่ได้ใช้สารสกัดอย่างอื่นเหมือนกับที่ทำในพืช ที่ต้องมาทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดที่ตกค้างอีกทีหนึ่ง จุดนี้ถือเป็นขั้นแรกในการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงขั้นตอนทุกขั้นตอนก็ปราศจากการปนเปื้อนใดๆ”

สิ่งที่ทีมงานวิจัยนี้ศึกษาต่อคือขั้นตอนการเก็บรักษาแคปซูล

“หลังจากบรรจุแคปซูลเสร็จ เราก็มาศึกษาสภาวะในการเก็บอีกว่าจะไว้ที่ไหน อย่างไร เราจึงออกแบบงานวิจัยเป็น 3 สภาวะโดยอิงกับการใช้ชีวิตประจำวันปกติของคน โดยสภาวะแรกเรานำมาเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ความชื้นทั่วไป สภาวะที่ 2 อยู่ในอุณหภูมิแต่มีที่ดูดความชื้น สภาวะสุดท้ายเก็บไว้ในถุงซิปแล้วเอาเข้าตู้เย็นธรรมดา ซึ่งเราพบว่าในแต่ละสภาวะไม่มีผลต่อการเก็บ ดังนั้น จะเก็บไว้ที่อุณหภูมิอะไรก็ได้

“ขณะเดียวกันเราก็เอาไปเทียบกับเลือดจระเข้ที่ได้จากการอบแห้งและเก็บในสภาวะเปิด ปรากฏว่ามีแบคทีเรียสูงมาก และยังพบว่าเมื่อนำไปเก็บในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสค่าแบคทีเรียก็ยังสูงมากเหมือนเดิม ซึ่งคงไม่เหมาะกับการผลิตเชิงพาณิชย์”

ส่วนจะสามารถผลิตออกขายได้เมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับองค์การอาหารและยา (อย.) ว่าจะให้การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวนี้ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยอยู่

-4-

เนื่องจากงานวิจัยการแปรรูปเลือดจระเข้เป็นอาหารเสริมครั้งนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาในเชิงพาณิชย์ จึงไม่อาจรู้มูลค่าทางการตลาดได้ว่าเมื่อออกสู่ท้องตลาดจะสร้างกำรี้กำไรมาก-น้อยแค่ไหน แต่ รศ.วินก็คิดคำนวณอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าจระเข้ 30 ตัวแปรรูปออกมาเป็นแคปซูลได้ 8,100 เม็ด ขายเม็ดละ 10 บาท ผู้ขายก็จะมีรายได้อยู่ที่ 8 หมื่นกว่าบาท ในขณะที่ท้องตลาดเองก็มีความต้องการเลือดจระเข้อยู่แล้ว

“ตั้งแต่เรื่องเลือดจระเข้ที่เราทำวิจัยถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีคนติดต่อมาที่เราเยอะโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง อีกอย่างคือการกินยาปฏิชีวนะมากๆ จะทำให้เกิดอาการกับตับ เพราะยาพวกนี้จะไปสะสมที่ตับ ซึ่งผิดกับเลือดจระเข้ที่ร่างกายสามารถขับออกได้” รศ.วินอธิบาย

เขายังเสริมว่า หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองของ อย. จะเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง เพราะการเลี้ยงจระเข้มีต้นทุนค่อนข้างต่ำมาก

“ต้นทุนการเลี้ยงจระเข้ 1 ตัว ปีหนึ่งมีค่าอาหารแค่ประมาณ 500 บาท เพราะมันกินน้อย กินแค่โครงไก่อย่างดีก็สัปดาห์ละหนึ่งตัว ถ้าเลี้ยงขุนมากๆ ก็ 2 ตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งยิ่งจระเข้ตัวใหญ่มากก็ยิ่งให้เลือดมาก และไม่จำเป็นต้องรอให้จระเข้โตถึงวัยเจริญพันธุ์ เพราะนอกจากเรื่องฮอร์โมนแล้ว เรื่องความคุ้มค่าก็ถือว่าไม่คุ้ม เนื่องจากจระเข้ราคาตัวละไม่ถึงหมื่น ถ้ามันถึงวัยเจริญพันธุ์ปุ๊บราคาอาจจะขึ้นไปถึง 6 หมื่นบาท”

การที่งานวิจัยนี้เลือกจระเข้ที่มีอายุ 2-3 ปี จึงเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับขั้นตอนทางกระบวนการอุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้

ที่เหลือจากนี้ก็คงต้องรอ อย. ประกาศรับรองออกมา

แคปซูลจระเข้จึงเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยของคนไทยที่ยืนยันได้ประการหนึ่งว่า คนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก

* * * * * * * * * * * *

จระเข้ สัตว์สมุนไพรใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว

ในทางการแพทย์แผนจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาและโภชนาการของจระเข้มานาน และไม่ใช่เฉพาะเลือดของจระเข้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอวัยวะอื่นๆ เกือบทุกส่วนของจระเข้ที่ชาวจีนเชื่อว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคและบำรุงกำลัง

เนื้อจระเข้มีไขมันต่ำ โปรตีนสูง และมีรสชาติดี ไม่มีกลิ่นสาบ (ช่วงอายุ 3-4 ปี) สามารถใช้เป็นยาบำรุงร่างกายและนำมาประกอบกับตัวยาสมุนไพรเพื่อใช้รักษาโรคหอบหืด

กระดูกและฟันนำมาบดใช้เป็นส่วนผสมของยากวาดคอเด็ก

อุ้งเท้าจระเข้ใช้ตุ๋นทำเป็นอาหารบำรุงสุขภาพ ช่วยป้องกันโรคตับแข็ง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไต

หางจระเข้ช่วยบำรุงไตและตับ ทั้งยังมีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณ

ไขมันจระเข้ ทำเป็นน้ำมัน ทาหรือนวดแก้ฟกช้ำ น้ำร้อนลวก ไฟลวก ใช้ทำยารักษาโรคผิวหนัง และรักษาแผลสด

อวัยวะเพศของจระเข้ตัวผู้ เชื่อว่าเป็นยาโด๊ปชั้นดี ใช้บำรุงไตและเสริมสมรรถภาพทางเพศ

ไข่จระเข้ ป้องกันความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคตับ โรคความจำเสื่อม และชะลอความแก่

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ที่มา: w3.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000121886

Responses are currently closed, but you can trackback from your own site.

Comments are closed.