งานวิจัยการบริโภคเลือดจระเข้ที่มีผลต่อเบาหวาน

การตรวจหาไอจีเอฟ-วัน (Insulin like Growth Factor-1, IGF-1) ในซีรัมจระเข้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพAnalysis of Insulin like Growth Factor-1 (IGF-1) in Crocodile Serum  for Development of Functional Food

บทคัดย่อ : ไอจีเอฟ-วัน (Insulin like Growth Factor-1, IGF-1)เป็นสารที่มีโครงสร้างทางโมเลกุลคล้ายอินซูลิน พบในน้ำเลือดและของเหลวต่างๆ ในร่างกาย ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์เลือดจระเข้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลือดจระเข้แห้งแคปซูล เพื่อทดสอบสมมุติฐานว่าในส่วนของน้ำเลือดจระเข้น่าจะมี IGF-1 หรือสารที่คล้ายกัน จึงได้ตรวจหา IGF-1 ในน้ำเลือดของจระเข้พันธุ์ไทยที่ได้ จากการเพาะเลี้ยง อายุ 2-5 ปี พบว่าปริมาณซีรัม IGF-1 ในเพศผู้ (n=13) เท่ากับ 64.51±5.42 ng/ml และเพศเมีย(n=10) เท่ากับ 70.92±4.18 ng/ml ในซีรัมสดและซีรัมแห้งเท่ากับ 67.28±4.79 ng/ml และ 68.24±5.13 ng/ml ตามลำดับ ค่าดังกล่าวไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ(p>0.05) แสดงให้เห็นว่าเพศ และกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็งไม่มีผลต่อปริมาณ IGF-1 ในซีรัมจระเข้ การศึกษานี้จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเลือดจระเข้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ

คำสำคัญ : จระเข้, เลือด, ซีรัม, โรคเบาหวาน, อินซูลิน

ผลงานวิจัย :    จากการวิเคราะห์หาปริมาณของสาร IGF-1 ในซีรัมจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยเพศผู้และเพศเมีย พบปริมาณของIGF-1 เท่ากับ 64.51±5.42 ng/ml และ 70.92±4.18 ng/mlตามลำดับ ซึ่งค่าที่ได้ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ(p>0.05) แสดงให้เห็นว่าในน้ำเลือดจระเข้มีสาร IGF-1 ซึ่งเพศไม่มีผลต่อปริมาณของ IGF-1 ในเลือดจระเข้ชนิดนี้ จากการศึกษาปริมาณของ IGF-1 ในมนุษย์พบว่าอายุ และเพศที่แตกต่างกันจะมีผลต่อปริมาณของIGF-1 โดยปริมาณของ IGF-1 จะค่อยลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น และในเพศหญิงจะมีปริมาณของ IGF-1 มากกว่าในเพศชาย แต่จากการศึกษาค่าปกติของซีรัม IGF-1 ในผู้ใหญ่ไทย อายุ 21-70 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรงพบว่าค่าเฉลี่ยของสารดังกล่าวในเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกัน

อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งปริมาณของ IGF-1 จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นในทั้งสองเพศ ในการศึกษาดังกล่าวใช้หลักการตรวจหาสาร IGF-1 เช่นเดียวกับในการศึกษานี้ โดยใช้แอนติบอดีต่อ IGF-1 ที่พัฒนามาเพื่อสามารถใช้ในการทำปฏิกิริยากับ IGF-1 ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นอกจากนี้ในการประเมินการตรวจหา IGF-1ด้วยวิธี Radio Immunoassay (RIA) พบว่าสาร IGF-1 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในน้ำเลือด (Plasma) ของจระเข้อเมริกาหรืออัลลิเกเตอร์ (Alligator mississippiensis) เพศเมียที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนในน้ำเลือด (Plasma estrogen)สูงและเมื่อศึกษาในเต่า (Trachemys scripta elegans)วัยเด็ก (Juvenile) พบการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนและให้พลังงานสูง ช่วยส่งเสริมให้ระดับ IGF-1 ในน้ำเลือดของเต่าสูงขึ้น

ผลการตรวจหาปริมาณของ IGF-1 ในซีรัมสดเท่ากับ67.28±4.79 ng/ml และในซีรัมแห้งเท่ากับ 68.24±5.13 ng/ml ซึ่งค่าที่ได้ไม่มีความแตกต่างกัน ทางสถิติ(p>0.05) แสดงให้เห็นว่ากระบวนการ Freeze drying ไม่มีผลทำให้ระดับของ IGF-1 เปลี่ยนแปลงไป กระบวนการนี้มีความเหมาะสมเพื่อจะใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพในระดับอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเชิงลึกถึงโครงสร้างของ IGF ในเลือดจระเข้ ตลอดจนการคงสภาพของสารนี้ที่ระยะเวลาและสภาวะต่างๆ กันเพื่อสนับสนุนความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ นอกจากนี้เมื่อคิดจากน้ำหนักซีรัมแห้งที่มีหน่วยเป็นกรัม (g) พบว่าในซีรัมจระเข้แห้งมีปริมาณของ IGF-1 เฉลี่ยเท่ากับ 677.20 ng/g ทั้งนี้เมื่อเทียบกับค่าปริมาณ IGF-1 เฉลี่ยในเขากวางอ่อน ซึ่งมีค่าเท่ากับ 193.24 ng/g แสดงว่าในซีรัมจระเข้แห้งมีปริมาณของ IGF-1 ที่มากกว่า เมื่อคิดต่อน้ำหนักแห้งที่เท่ากัน ซึ่งปริมาณของ IGF-1 ในซีรัมจระเข้ที่เหมาะสมในการออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดควรมีการศึกษาเพิ่มเติม จากการที่สาร IGF-1 จะทำหน้าที่เช่นเดียวกับอินซูลินในร่างกาย ผลการตรวจหาปริมาณ IGF-1 ในเลือดจระเข้นี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเลือดจระเข้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพในอนาคต
สรุป :  ในเลือดจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยมีสารไอจีเอฟ-วัน (Insulin like Growth Factor-1, IGF-1) อยู่ซึ่งปัจจัยเพศและกระบวนการทำแห้งแบบเยือกแข็ง (Freeze drying) ไม่มีผลต่อปริมาณของสาร IGF-1 ในซีรัมของจระเข้ การศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเลือดจระเข้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพต่อไป
อ้างอิง : riti.knit.or.th
ผลที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และ การดำเนินชีวิตในประจำวันที่ถูกต้อง
Responses are currently closed, but you can trackback from your own site.

Comments are closed.